2

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตามที่องค์การสุขภาพสัตว์โลก รายงานการพบโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever) ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และมีแนวโน้มการะบาดที่รุนแรงขึ้น กรมปศุสัตว์ได้มีการกำหนดมาตรการต่างๆร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในการควบคุมป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรมิให้เข้ามาในประเทศไทย แต่อาจยังอาจมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนระหว่าง “โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร “(African swine fever,ASF)และ”โรคอหิวาต์สุกร “(Classical swine fever) ซึ่งทั้งสองโรคได้ถูกกำหนดให้เป็นโรคตามพระราชบัญญัติสัตว์ พ.ศ.๒๕๕๘ หากพบโรคเกิดขึ้นในฟาร์มหรือพื้นที่ใดต้องดำเนินการตามมาตรการที่ถูกกำหนดไว้ภายใต้พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.๒๕๕๘ นั้น

อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่มีความใกล้เคียงกันของทั้งสองโรค คือมีอาการทางคลินิกที่คล้ายกัน ได้แก่ มีไข้สูง ตายเฉียบพลัน มีจุดเลือดออกที่ผิวหนัง แท้งหรือท้องเสีย ในกรณีโรคอหิวาต์แอฟริกามักพบอาการถ่ายเป็นเลือด ซึ่งไม่สามารถแยกออกจากกันภายนอกได้ต้องมีการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเท่านั้น นอกจากนี้วิธีการติดต่อของโรคก็มีความใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นติดจากสิ่งคัดหลั่งที่มาจากสุกรป่วยหรือจากสุกรที่หายป่วยจากโรคแล้ว การปนเปื้อนของเชื้อที่วัสดุ อุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในฟาร์มรวมทั้งคนด้วย แต่สิ่งที่ทำให้ทั้งสองโรคมีความแตกต่างกัน คือ โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เป็นโรคที่เกิดจาก DNA virus ต่างจากโรคอหิวาต์สุกร ซึ่งเป็น RNA virus ซึ่งธรรมชาติของ DNA virus จะมีความคงทนในสิ่งแวดล้อมสูงมาก ส่งผลถึงประสิทธิภาพการทำลายเชื้อโรคหากพบการติดเชื้อในฟาร์มแล้วและเนื่องจากเชื้อนี้ซึ่งเป็น DNA virus มีขนาดใหญ่ทำให้ในปัจจุบันยังไม่สามารถผลิตวัคซีนเพื่อการป้องกันโรคได้ทำให้เมื่อสัตว์ติดเชื้อแล้วมีอัตราการตายที่สูง นอกจากนี้โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรยังสามารถติดต่อจากเห็บอ่อน (Ornithodoros spp.) ซึ่งไม่พบในประเทศไทย จากข้อมูลข้างต้นจะพบว่าโรคทั้งสองมีความเหมือนและความแตกต่างกันในประเด็นสำคัญ ดังนั้นเพื่อให้เกษตรกรเกิดความตระหนักถึงความรุนแรงของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร กรมปศุสัตว์จึงขอสรุปเป็นประเด็นความรุนแรงของโรค 4 ประเด็นเพื่อให้เกิดความรับรู้ที่ชัดเจนคือ ไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีนในการใช้ป้องกันโรค สุกรที่ติดเชื้อจะมีอัตราการตายสูงและเชื้อมีความคงทนในสิ่งแวดล้อมสูง

ท้ายที่สุดนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ได้ขอความร่วมมือเกษตรกรให้ยกระดับการเลี้ยงสุกรให้มีระบบการป้องกันโรคที่ดีตามมาตรฐาน GAP และหากเป็นรายย่อยให้ใช้มาตรฐานการป้องกันและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) ห้ามนำอาหารเหลือมาให้สุกรกินโดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบแหล่งที่มาของสุกรก่อนเข้าฟาร์ม ร่วมกับการจัดการด้านระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งจะช่วยป้องกันการนำโรคเข้าสู่ฟาร์มได้ นอกจากนี้ให้สังเกตอาการสุกรอย่างใกล้ชิด หากพบสุกรแสดงอาการป่วย เช่น มีไข้สูง เบื่ออาหาร ผิวหนังเป็นปื้นแดงและต่อมาเป็นสีเขียวคล้ำ ถ่ายเป็นเลือด พบภาวะแท้งในแม่สุกรและมีจำนวนสุกรตายผิดปกติให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที หรือ call center 063-225-6888 หรือที่แอปพลิเคชัน DLD 4.0 “แจ้งการเกิดโรคระบาด” เพื่อจะได้เร่งดำเนินการช่วยเหลือต่อไป./

-----------------------------------------

ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์

รายละเอียดเพิ่มเติม