กองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ (กสบ.) พร้อมด้วยสำนักงานปศุสัตวจังหวัดนนทบุรี

เจ้าหน้าที่กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม และเทศบาลนครปากเกร็ด ลงพื้นที่ตรวจสอบวัดชลประทานรังสฤษดิ์

3


วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2565 เวลา 10.00 น.

ณ วัดชลประทานรังสฤษดิ์ พระอารามหลวง หมู่ที่ 1 ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

         นายสมเกียรติ พันธ์ศรี ผู้อำนวยการกองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ (กสบ.) ได้มอบหมายให้นายนันทศักดิ์ มุสิกศิลป์ ตำแหน่งนายสัตวแพทย์ชำนาญการ , นายวัฒนศักดิ์ อินทรศักดิ์ ตำแหน่งนิติกร กลุ่มคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ กสบ. และ นางสาวเมธิรา เลิศหิรัญวงศ์ ตำแหน่งนายสัตวแพทย์ กลุ่มสัตวแพทย์บริการ กสบ.ร่วมกับนางเสาวนีย์ พวงไพบูลย์ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ และนายสมชาย หมื่นเดช ปศุสัตว์อำเภอปากเกร็ด สำนักงานปศุสัตวจังหวัดนนทบุรี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลนครปากเกร็ด ลงพื้นที่ตรวจสอบวัดชลประทานรังสฤษดิ์ ร่วมกัน

กรณี สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทยมีหนังสือขอให้กรมปศุสัตว์ตรวจสอบวัดชลประทานรังสฤษฏ์ ที่มีการปรับปรุงพื้นที่ด้วยการสูบน้ำออกเป็นจำนวนมาก แล้วปล่อยให้ปลา เต่าและตะพาบน้ำ จำนวนมากได้รับความทุกข์ทรมานและอาจตายได้ เข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 นั้น

จากการลงพื้นที่เข้าตรวจสอบ พบนายสมพล อุทัยรัตน์ กลุ่มบริหารงานก่อสร้าง แจ้งว่า พื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นกุฏิพระที่สร้างมานานแล้ว มีบ่อน้ำที่ขุดขึ้นมาล้อมรอบ ทางกรมชลประทานซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่มีนโยบายที่จะรื้อถอนกุฏิพระ ถมบ่อ เพื่อก่อสร้างอาคารใหม่ขึ้นมาแทนที่ โดยเมื่อวันที่ 7 – 9 มิถุนายน 2565 ทางเจ้าหน้าที่จากกรมชลประทานได้มาทำการสูบน้ำออกจากบ่อดังกล่าว และในวันที่ 10 มิถุนายน 2565 ได้ให้เจ้าหน้าที่จากคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาทำการจับปลาที่มีอยู่ทั้งหมดนำส่งขึ้นรถกระบะที่มีผ้าใบคลุมมิดชิดและให้ออกซิเจนตลอดเวลาเพื่อไปเลี้ยงดูต่อที่ บึงฉวากเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสุพรรณบุรี

ต่อมาในวันที่ 11 มิถุนายน 2565 พบว่ามีปลาตายประมาณ 4 – 5 ตัวที่หลงเหลือจากการจับเนื่องจากเป็นปลาที่ไปหลบซ่อนอยู่ใต้โคลน ใต้กอผักตบชวาซึ่งยากต่อการมองเห็น จึงมีผู้นำภาพจากเหตุการณ์นี้ไปเผยแพร่ยังสื่อสังคมโซเชียล ทั้งนี้ไม่พบว่ามีเต่า และตะพาบน้ำตายจากการสูบน้ำครั้งนี้แต่อย่างใด

พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ จึงลงความเห็นว่า การกระทำดังกล่าวไม่เข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 เนื่องจากเป็นเหตุสุดวิสัย

ทั้งนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ จึงได้ให้คำแนะนำในเรื่องการจับปลาและขนส่งปลาในครั้งต่อ ๆ ไป เพื่อไม่ให้ผิดหลักการจัดสวัสดิภาพสัตว์ และได้มีการลงบันทึกถ้อยคำจนเป็นที่เข้าใจ

อนึ่งเจ้าหน้าที่ฯ ได้เข้ากราบนมัสการพระปัญญานันทมุนี (สง่า สุภโร) เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์ และนำเรียนเรื่องดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว